About Us

ประวัติศูนย์แพทยศาสตรศึกษา โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ

โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ มีเป้าหมายที่จะเป็นสถาบันทางการแพทย์ที่ร่วมผลิตบัณฑิตแพทย์มานานกว่า 20 ปี ในอดีตมีความพยายามทำความร่วมมือกับหลายสถาบันการศึกษาเพื่อร่วมผลิตนักศึกษาแพทย์ แต่ด้วยหลายปัจจัย จึงยังไม่ประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตามโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า มีบทบาทในการจัดการฝึกอบรมแพทย์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2525 โดยได้เริ่มจากการเปิดการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านในสาขาศัลยกรรมทั่วไปเป็นสาขาแรก จนกระทั่งในปัจจุบันมีหลักสูตรฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านจำนวน 5 สาขา ประกอบด้วย สาขาศัลยกรรมทั่วไป สาขาอายุรกรรม สาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน สาขา เวชศาสตร์ป้องกันแขนงเวชศาสตร์ทางทะเล และสาขาศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา อีกทั้งได้ร่วมมือกับคณะแพทยศาสตรศิริราชพยาบาลและ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการร่วมสอนนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 ในปัจจุบันมีสาขาวิชา ที่ร่วมสอนกับคณะแพทยศาสตรศิริราชพยาบาล จำนวน 6 สาขา ประกอบด้วย ศัลยกรรม อายุรกรรม กุมารเวชกรรม สูตินรีเวชกรรม ศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ และเวชศาสตร์ฉุกเฉิน

ส่วนเป้าหมายในการเป็นสถาบันผลิตแพทย์ กรมแพทย์ทหารเรือได้มีการศึกษาความเป็นไปได้อีกครั้ง โดย ในปี 2557 ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อศึกษา ดูงาน และวิเคราะห์เงื่อนไข ความเป็นไปได้ในการเป็นสถาบันผลิตแพทย์ จากสถาบันผลิตแพทย์ต่างๆ

และในปี พ.ศ. 2548 กรมแพทย์ทหารเรือ ได้กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในการพัฒนาโรงพยาบาลในสังกัดให้เป็นสถาบันทางการแพทย์ที่ร่วมจัดการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิตชั้นคลินิก (ชั้นปีที่ 4-6) โดยมอบหมายให้ โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า เป็นผู้ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว

โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้าได้ดำเนินการจัดตั้งสำนักงานแพทยศาสตรศึกษา และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารงานแพทยศาสตรศึกษาขึ้นในปี 2559 เพื่อเตรียมความพร้อมงานแพทยศาสตรศึกษาในด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย การพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมในการเป็นอาจารย์แพทย์ การเตรียมการระบบสนับสนุนการจัดการศึกษา ได้แก่ การปรับปรุงอาคาร สถานที่ การจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ สิ่งอุปกรณ์สนับสนุนการเรียนการสอนที่ทันสมัย ห้องสมุด ระบบสารสนเทศและการสืบค้น รวมถึงสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของนิสิตแพทย์ อีกทั้งยังมีการปรับโครงสร้างของโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้าเพื่อรองรับการจัดตั้งศูนย์แพทยศาสตรศึกษา ที่มีการจัดโครงสร้างภายในหน่วยงานด้วยบุคลากรที่มีความพร้อมและมีความรู้ความสามารถในการจัดการศึกษาได้ตามมาตรฐานสากล

คณะกรรมการบริหารงานแพทยศาสตรศึกษา รพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้า ได้มีการศึกษา ดูงาน กับคณะแพทยศาสตร์หลายแห่ง จนได้ข้อสรุปว่าหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มีความสอดคล้องกับความต้องการและความพร้อมของโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้ามากที่สุด จึงนำไปสู่การลงนามข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยเรื่องความร่วมมือในการผลิตแพทย์และบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ระหว่างกองทัพเรือ โดยกรมแพทย์ทหารเรือกับมหาวิทยาลัยบูรพา ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2561

ในบันทึกข้อตกลงนี้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา รับผิดชอบการจัดการเรียน การสอนนิสิตแพทย์ในชั้นปีที่ 1-3 ส่วนโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ รับผิดชอบการจัดการเรียนการสอนในชั้นปีที่ 4-6 ตามหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา อีกทั้งยังมีความร่วมมือกันในการผลิตแพทย์หลังปริญญา และบุคลากรด้านสุขภาพ รวมทั้งความร่วมมือทางวิชาการด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉิน เวชศาสตร์ทางทะเล เวชศาสตร์การเดินทางและการท่องเที่ยว

โครงการผลิตแพทย์ร่วมของมหาวิทยาลัยบูรพากับโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ เริ่มรับนิสิตแพทย์รุ่นแรกในปีการศึกษา 2562 โดยรับนิสิตแพทย์ จำนวน 34 คน นิสิตแพทย์รุ่นนี้นับเป็นรุ่นที่ 13 ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ใช้หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2555 ในการจัดการศึกษา นิสิตแพทย์รุ่นนี้จะเข้ามาเป็นนิสิตแพทย์ที่เรียนในศูนย์แพทยศาสตรศึกษา โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า เป็นรุ่นแรก ในปีการศึกษา 2565

ศูนย์แพทยศาสตรศึกษา ได้รับการตรวจประเมินจาก สถาบันรับรองการศึกษา แพทยศาสตร์ (สมพ.) หรือ IMEAC (Institute for Medical Education Accreditation) เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2562 และได้รับการรับรองตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2562 ในการเป็นศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกที่มีความพร้อม และได้มาตรฐานตามเกณฑ์มาตรฐานระดับสากลสำหรับแพทยศาสตรศึกษา ( World Federation for Medical Education, Basic Medical Education Standard (2017) : TME.WFME.BME.standard (2017) ) ที่ประเมินโดยสถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาแพทยศาสตร์ (สมพ.) ( IMEAc : Institute for Medical Education Accreditation)

ทั้งนี้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตอย่างต่อเนื่องให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมในยุคเทคโนโลยีดิจิทัลและมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น เป็นหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2563 ซึ่งก่อนการเปิดรับนิสิตแพทย์ในปีการศึกษา 2563 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพาและศูนย์แพทยศาสตรศึกษา โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ต้องผ่านการรับรองจากแพทยสภา ตามเกณฑ์มาตรฐานระดับสากลสำหรับแพทยศาสตรศึกษา (WFME ) อีกครั้ง โดยในวันที่ 13-15 พฤศจิกายน 2562 สถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาแพทยศาสตร์ (สมพ.) ได้ดำเนินการประเมินคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพาและศูนย์แพทยศาสตรศึกษา โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ทำให้เกิดความเชื่อมั่นได้ว่าสถาบันทั้งสองมีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานสากลในการผลิตบัณฑิตแพทย์ให้มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภาและเทียบเท่มาตรฐานสากล สามารถประกอบวิชาชีพเวชกรรมด้วยหลักคุณธรรม มีความรู้ ความรับผิดชอบ ความเสียสละและมนุษสัมพันธ์ที่ดี มีความรู้ความสามารถและเจตคติเหมาะสมต่อความต้องการบริการทางการแพทย์โดยเฉพาะพื้นที่ชนบทและชายฝั่งทะเล รวมทั้งมีอัตลักษณ์เฉพาะของผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันทหารเรือ